แหล่งเรียนรู้

เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร

เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร


“เป็นครั้งแรกที่ผู้ใช้งานอินเทอร์เนตคนหนึ่งสามารถที่จะส่งชิ้นส่วนหรือสินทรัพย์ที่เป็นดิจิตอลไปให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เนตอีกคนหนึ่ง การส่งแบบนี้จะเป็นอะไรที่ปลอดภัย ทุกๆคนรู้ว่ามีการส่งนี้เกิดขึ้น และจะไม่สามารถมีใครมาเปลี่ยนแปลงการส่งนั้นได้ มันเจ๋งมาก”

– Marc Andressen

จากความเคยชินในการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ เทคโนโลยี Blockchain (อ่านว่าบล็อกเชน) นั้นอาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่คุณคุ้นเคย กล่าวโดยวิกิพีเดีย

ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ผู้คนสามารถที่จะเขียนหรือบันทึกเรื่องราวต่างๆได้ และผู้คนอื่นๆอีกมากมายสามารถที่จะควบคุมวิธีที่เรื่องราวต่างๆเหล่านี้จะถูกเพิ่มเติมและอัพเดต ไม่ต่างกับวิกิพีเดียที่ไม่ได้ถูกแก้ไขหรือเขียนโดยคนๆเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม หากจะอธิบายให้ลึกลงไปกว่านั้น ความแตกต่างของสองสิ่งนี้อาจจะยังมีอีกหลายอย่างที่ไม่เหมือนกัน ในขณะที่สองสิ่งนี้ถูกรันอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เนต แต่วิกิพีเดียนั้นถูกสร้างอยู่บนระบบ World Wide Web (WWW) ซึ่งตั้งอยู่บนเซอเวอร์แบบที่ใช้กันทั่วไป

โดยผู้ใช้งานที่มี permission (สิทธิ์ในการแก้ไขหรือดูบทความ) อยู่บนระบบนั้นๆสามารถที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลบนวิกิพีเดียที่เก็บอยู่บนเซอเวอร์ได้

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้งานเปิดเข้าไปใช้งานหน้าต่างของวิกิพีเดียนั้น พวกเขาจะได้อ่านเวอร์ชันที่คัดกรองแล้วของบทความบนวิกิพีเดีย ในขณะที่ permission ในการควบคุมฐานข้อมูลนั้นยังตกอยู่กับวิกิพีเดีย ซึ่งอนุญาตให้อำนาจในการควบคุมทุกอย่างนั้นตกอยู่ในศูนย์กลาง

เบื้องหลังของวิกิพีเดียนั้นก็เหมือนกับฐานข้อมูลส่วนกลางที่ถูกป้องกันอย่างแน่นหนา เฉกเช่นเดียวกับระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐบาล ธนาคาร และบริษัทใหญ่ๆที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ วิกิพีเดียจะเป็นผู้ควบคุมระบบส่วนกลางนี้ รวมไปถึงการอัพเดทระบบและการป้องกันการโจมตีจาก hacker

ในขณะเดียวกันนั้น ระบบฐานข้อมูลของเทคโนโลยี Blockchain กลับมีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง โดยนี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เจ้าบล็อคเชนนี้แตกต่างจากฐานข้อมูลอื่นๆทั่วไป

ในวิกิพีเดีย เราจะมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เวอร์ชันที่คัดกรองแล้ว’ มันคือบทความที่ผ่านการแก้ไขไปมาของผู้เข้ามาใช้งาน จนบทความนั้นมีข้อมูลล่าสุดและพร้อมให้ผู้คนอ่านได้แล้ว

ในกรณีของ Blockchain ทุกๆ node (เครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นสมาชิกในเครือข่าย Blockchain) ในเครือข่ายจะได้ข้อมูลเดียวกันมา แต่ละ node จะทำการบันทึกข้อมูลชุดเดียวกันนี้ และต่างฝ่ายต่างเขียนข้อมูลลงฐานข้อมูลตัวเองกันไป ไม่มีการรอ node ไหนๆให้ทำเสร็จก่อน และข้อมูลที่ node ส่วนใหญ่มีในครอบครอง หรือ ข้อมูลไหนไปปรากฎตาม node ต่างๆในเครือข่ายมากที่สุด เราจะถือว่านั่นเป็น ‘ข้อมูลต้นแบบ’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ทุกๆ node ยอมรับ ซึ่งก็เปรียบเสมือน ‘เวอร์ชันที่คัดกรองแล้ว’ ของบทความวิกิพีเดียนั่นเอง

จะขอยกตัวอย่างให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยบิทคอยน์ที่ใช้บล็อคเชนในการจัดการ สมมติ ผู้อ่านโอนบิทคอยน์มาให้ Siam Blockchain จำนวน 1 บิทคอยน์ ผู้อ่านจะต้องระบุว่า โอนจาก address ไหน ไป address ไหน เหมือนกับบอกว่าโอนจากบัญชีไหนไปบัญชีไหนแบบโอนธนาคารทั่วไป โดย address หรือ wallet address คือบัญชีหรือกระเป๋าตังที่เราเก็บบิทคอยน์เอาไว้ สเตปต่อมา คอมพิวเตอร์ของผู้อ่านจะบันทึกข้อมูลว่ามีการโอนบิทคอยน์จากผู้อ่านมาให้ Siam Blockchain และข้อมูลนี้จะถูกส่งไปให้ทุกๆ node ในเครือข่าย เมื่อมี node ไหนยืนยันและยอมรับว่าการโอนนี้เกิดขึ้นจริง ถูกต้องตามระเบียบที่บิทคอยน์กำหนดไว้ การโอนนี้ก็จะถูกบันทึกลงบล็อคเชนใน node นั้นๆ และจะถูกบอกต่อไปยัง node อื่นๆอีกว่ามีการโอนใหม่เกิดขึ้นนะ

บล็อคเชนนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนบัญชีกลางที่รวมทุกการเคลื่อนไหวของบิทคอยน์ และทุกคนคือบัญชีนี้ไว้ บล็อคเชนที่โดนอัพเดทใหม่นี้จะถูกส่งไปให้ทุก node ที่ต่อกับเครือข่ายบล็อคเชน แต่ละ node จะบันทึกบล็อคเชนที่มีการโอนเงินใหม่นี้ไว้ บางที่ก็จะบันทึกเร็วกว่าที่อื่น เพราะอาจจะอยู่ใกล้ๆจุดที่ผู้อ่านโอนเงิน ข้อมูลเลยเดินทางไม่ไกล แต่บาง node อาจจะต้องรอนานมาก กว่าข้อมูลจะข้ามน้ำข้ามทะเลมา เราจึงมีการบอกว่า ข้อมูลที่ไปปรากฎใน node ต่างๆมากที่สุดจะถือว่าจริง เพราะบาง node อาจจะยังไม่ได้รับข้อมูลนั่นเอง การปรากฎตัวของข้อมูลการโอนเงิน ใน 1 node หรือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่อง ศัพย์เทคนิค คือ ‘Confirmation’ หรือแปลตรงๆ คือ การยืนยัน บิทคอยน์ตั้งกฎไว้ว่าต้องมีอย่างน้อย 6 confirmations จึงจะถือว่าการโอนนี้ถูกต้องและสำเร็จ ในตอนจบ ทุกๆ node ในระบบจะต้องมีข้อมูลในบล็อคเชนที่เท่ากัน จึงจะถือว่าสมบูรณ์แบบตามคอนเซปต์ของบล็อคเชน

การโอนเงินนี้ก็จะถูกบันทึกในระบบโดยปราศจากการเคลื่อนย้ายของวัตถุจริงๆ เพราะบิทคอยน์จับต้องไม่ได้ มีแต่ข้อมูลการโยกย้ายของบิทคอยน์ ที่ทุกๆคนบันทึกเอาไว้ ใครจะมาแอ๊บเนียนบอกว่าตัวเองได้ 1 ล้านบิทคอยน์อยู่คนเดียวไม่ได้นะ

ทุกๆธุรกรรม ทุกๆการแลกเปลี่ยน ทุกๆการซื้อขายบน Blockchain จะถูกบันทึกและกระจายไปหาทุกๆ node เพื่อบันทึกเหตุการณ์นี้ในแต่ละ node เอง

นี่คือสิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับ Blockchain มันคือเทคโนโลยีที่เป็นตัวแทนแห่งนวัตกรรมทางด้านข้อมูล ด้วยการนำเสนอวิธีที่ชาญฉลาดและโปร่งใสในการบันทึกข้อมูล และเผยแพร่ออกไปให้สามารถตรวจสอบได้ในวงกว้าง ทุกๆคนสามารถเห็นได้ว่าเกิดสิ่งนี้ขึ้นบน Blockchain ใครจะมาปลอมแปลงมันไม่ได้ ด้วยวิธีการนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องมีคนกลางในการมาตรวจสอบความน่าเชื่อถือและความโปร่งใสของทุกๆการแลกเปลี่ยนในโลกออนไลน์ที่เกิดขึ้น

แต่ความจริงแล้วนั้น Blockchain เองก็ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ใหม่สักเท่าไร

อันที่จริงแล้วมันคือการรวมตัวกันของเทคโนโลยีที่เคยถูกพิสูจน์และประสบความสำเร็จไปแล้ว จากไอเดียของผู้สร้าง Bitcoin นามว่า Satoshi Nakamoto เกิดเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีหลายๆอย่าง ได้แก่ อินเตอร์เน็ต, การเข้ารหัสด้วย private key และ การดึงดูดผู้เข้าร่วมใช้งานด้วยการให้รางวัล (เป็นการให้รางวัลเป็นบิทคอยน์ สำหรับ node ที่ช่วยยืนยันการโอนแต่ละครั้งว่าเกิดขึ้นจริง) เขานำสิ่งเหล่านี้มาประยุกต์ใช้รวมกันด้วยวิธีการใหม่จึงเกิดเป็นเทคโนโลยี Blockchain ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มากมายหลากหลายวิธี

ผลลัพธ์ที่ได้ ก็คือ ระบบของความสัมพันธ์แบบดิจิตอล ที่ไม่จำเป็นต้องมีคนกลางมาตรวจสอบ เพราะทุกๆคนในเครือข่ายก็เปรียบเสมือนผู้ตรวจการณ์ของระบบในการรักษาความถูกต้องและมั่นคงของข้อมูลในระบบนี้

นิยามของเครดิตดิจิตอล (Digital Trust)
‘Trust’ หรือที่คนไทยเรียกกันว่า ‘เครดิต’ คือ การตัดสินและประเมินความเสี่ยงของบุคคลหรือนิติบุคคลนั้นๆ สำหรับในโลกดิจิตอล การจะสร้างความน่าเชื่อถือก่อนที่จะทำอะไรก็ตาม จะต้องประกอบไปด้วยการยืนยันตนเอง (Authentication) และการยืนยันสิทธิของตนเอง (Authorization)

หรือพูดง่ายๆ เราแค่อยากรู้ว่า ‘คุณคือตัวคุณ จริงๆหรือเปล่า’ และ ‘คุณมีสิทธิ์ที่จะทำสิ่งนี้หรือเปล่า’ เหมือนกับเวลาใช้บัตรเครดิต ทางธนาคารต้องยืนยันว่านี่คือตัวคุณจริงๆ โดยอาจจะใช้วิธีส่งรหัส OTP เข้ามือถือ และคุณมีสิทธ์ใช้บัตรเครดิตนี้จริงๆ ถ้าวงเงินคุณยังเหลืออยู่

ในกรณีของ Blockchain การเข้ารหัสด้วย private key คือสิ่งที่สร้างความเป็นเจ้าของและทำให้เกิดการยืนยันตนที่ปลอดภัยและมั่นคง private key คือ รหัสลับที่มีความสำคัญในการถอดรหัสเพื่อเข้าถึงข้อมูลใน Blockchain ที่แต่ละคนจะได้รับและจะไม่ถูกเปิดเผยให้ผู้อื่นรับรู้ เปรียบเทียบได้กับกุญแจที่เอาไว้ไขตู้เซฟ อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวที่ไม่จำเป็นในการยืนยันตนเอง ในชีวิตจริงคุณอาจจะต้องโชว์บัตรประชาชนหรือเอกสารทางราชการ แต่ใน Blockchain แค่มี private key ก็เพียงพอแล้ว นี่ทำให้คุณปลอดภัยจากพวก hacker หรือมิจฉาชีพมากยิ่งขึ้น และ private key ถึงจะเป็นแค่ชุดตัวเลข แต่มันจะถูกสร้างจาก algorithm ที่ซับซ้อน จนยากที่ใครจะมาเดา private key ของเราได้ถูก

แต่การยืนยันตัวก็ยังไม่พอ ต้องมีการยืนยันสิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งตัวอย่างของการยืนยันสิทธิ์ที่ง่ายและชัดเจนที่สุด คือ คุณมีเงินพอรึเปล่า? ถ้าคุณมีเงินพอ คุณก็มีสิทธิ์ที่จะทำธุรกรรมนี้ หรือคุณมีสิทธิ์ที่จะโอนเงินด้วยช่องทางนี้รึเปล่า เมื่อคุณมีสิทธิ์ในการทำสิ่งที่คุณต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ เราต้องการระบบเครือข่าย แบบ Peer-to-peer คือระบบทุกคนแชร์ข้อมูลกันไปมาโดยไม่มีศูนย์กลาง ระบบที่อยู่ได้ด้วยการมีตัวตนของทุกๆคนในเครือข่าย เปรียบเทียบได้กับเครือข่ายของ BitTorrent ที่คุณอาจจะคุ้นเคย การกระจายตัวของระบบที่ไม่มีศูนย์กลางนี้ จะสามารถหลบเลี่ยงความเสี่ยงของการล่มสลายของศูนย์กลางที่จะทำให้พังทั้งเครือข่ายได้

สมาชิกทุกคนในเครือข่ายแบบกระจายตัวนี้ จะมีงานสำคัญในการเป็นผู้จดบันทึกทุกๆธุรกรรมที่เกิดขึ้นในระบบ และจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบการรักษาความปลอดภัยที่ถูกออกแบบไว้

การยืนยันตนและการยืนยันสิทธิในรูปแบบนี้ ทำให้การแลกเปลี่ยนแบบดิจิตอลที่เกิดขึ้นสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการหาคนกลางมายืนยันความถูกต้องของการแลกเปลี่ยนเหล่านี้ ตัวอย่างของคนกลางในชีวิตจริงของเรา เช่น รัฐบาล ผู้ซึ่งเป็นคนกลางในการกำหนดมูลค่าเงินของชาตินั้นๆและเป็นผู้ประกาศให้ใช้เงินเหล่านี้มีมูลค่าสามารถในประเทศนี้ได้ หรือ ธนาคาร ที่เป็นคนกลางในการยืนยันว่าการโอนจากเราไปถึงอีกฝ่ายนั้นเกิดขึ้นจริงและสำเร็จ หรือ พนักงานตรวจสอบบัญชี ที่เป็นตัวกลางในการตรวจสอบบัญชีของบริษัทนี้ว่าทุกบาททุกสตางค์มีที่มาที่ไปอย่างถูกต้อง

ในวันนี้ เหล่านักลงทุนจากแต่ละอุตสาหกรรมจะตื่นขึ้นมาพบกับการเชื่อมถึงกันในรูปแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อนบนโลกดิจิตอลด้วยพลังของ Blockchain ด้วยตัวของ Blockchain เองนั้น มักถูกขนานนามว่าเป็นหัวใจสำคัญของ Transaction Layer (ส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล) ของอินเตอร์เน็ต ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของ Internet of Value (แนวคิดการสร้างมูลค่าจากข้อมูลและอินเตอร์เน็ต)

อีกคอนเซ็ปต์ของ Blockchain ที่สำคัญนอกเหนือจากการยืนยันตนและยืนยันสิทธิ คือ การมอบรางวัลให้กับผู้ที่ผดุงซึ่งความปลอดภัยของระบบ และเป็นผู้ยืนยันถึงความมั่นคงและความถูกต้องของทุกธุรกรรมในเครือข่าย หรือที่เรียกกันว่า ‘การขุด’ ที่สร้างความ win-win ให้กับทุกๆคนที่มีส่วนร่วม อีกทั้งยังดึงดูดตั้งแต่รัฐบาล บริษัทไอที รวมไปถึงธนาคารต่างๆให้เข้ามาใช้เทคโนโลยีตัวนี้

เรียกได้ว่า เทคโนโลยี Blockchain ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ของความสำคัญในการยืนยันตน และยืนยันสิทธิ เพื่อทำธุรกรรมดิจิตอลอย่างปลอดภัยและถูกต้อง

สุดท้ายนี้ เจ้าไอเดียสุดล้ำนี่ยังสามารถนำไปประยุกต์ให้กับหลากหลายสิ่งที่ต้องการระบบที่จัดการข้อมูล และความน่าเชือถือของข้อมูลเหล่านั้น หรือไม่แน่ เราอาจจะเห็นวิธีการใช้ Blockchain ที่จะเปลี่ยนชีวิตประจำวันของคุณไปตลอดกาลเลยก็เป็นได้

ที่มา : siamblockchain

Comments are closed.